Ticker

10/recent/ticker-posts

ถั่วพร้า ปุ๋ยพืชสด

        ถั่วพร้า เป็นพืชบำรุงดินหรือปุ๋ยพืชสดที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน เพราะเป็นพืชที่ให้ธาตุไนโตรเจนในปริมาณสูง จึงนำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสดได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางภาครัฐก็ให้การสนับสนุนในการเพาะปลูก เนื่องจากสามารถเพาะปลูกได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำในการนำมาใช้ประโยชน์ และไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ถั่วพร้าจัดเป็นพืชในสกุล (Genus) Canavalia ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 70 – 75 ชนิด (Specie) แต่เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันสองชนิด คือ ถั่วพร้าเมล็ดขาว และถั่วพร้าเมล็ดแดง พืชในสกุลนี้จัดอยู่ในส่วน (Division) Magnoliophyta, ชั้น (Class) Magnoliopsida, ชั้นย่อย (Subclass) Rosidae (Eurosids I) , ตระกูล (Order) Fabales, วงศ์ (Family) Fabaceae และวงศ์ย่อย (Subfamily) Faboideae
ถั่วพร้า จัดเป็นพืชล้มลุกลำต้นเป็นพุ่มมีลำต้นสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร มีรากลึก ลำต้นเล็กและจะเป็นไม้แข็ง ใบเป็นใบรวมแบบ 3 ใบ (trifoliolate) ใบมีรูปไข่มนค่อนข้างกลม ยาว 7-12 เซนติเมตร ดอกเป็นกลุ่มมีสีชมพู กลีบเลี้ยงจะโค้งแล้วส่วนบนมีสีขาว ปกติผสมตัวเอง ฝักมีลักษณะคล้ายดาบห้อยลง เมื่อสุกมีสีเหลืองคล้ายฟางข้าว ฝักมีขนาดยาว 2.5 เซนติเมตร และยาว 20-35 เซนติเมตร มีเมล็ด 10-20 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดมีรูปร่างแบนยาว เมล็ด 1 กิโลกรัมมีจำนวน 1,000-1,200 เมล็ด ขั้วเมล็ด (hilum) ของเมล็ดถั่วพร้าเมล็ดขาวจะยาวกว่าของถั่วพร้าเมล็ดแดง

ถั่วพร้าเมล็ดขาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Canavalia ensiformis (L.) DC. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า jack bean หรือ house bean ส่วนใหญ่พบว่ามีการเพาะปลูกในเขตร้อนชื้นของทวีปอเมริกา เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์หรือปลูกเป็นพืชหมุนเวียนสลับกับพืชหลัก เมล็ดและฝักของถั่วพร้ามีความเป็นพิษ จึงไม่นิยมที่จะนำมาบริโภค แต่ก็สามารถบริโภคฝักอ่อน ใบ หรือเมล็ดที่ผ่านกระบวนการชะล้างพิษ เช่น คั่ว หรือต้มถ่ายน้ำหลาย ๆ ครั้งได้
ถั่วพร้าเมล็ดแดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Canavalia gladiata (Jacq.) DC. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า sword bean ส่วนใหญ่พบว่ามีการเพาะปลูกในเขตเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปลูกเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ควรทำการไถพรวนดินแล้วปลูก การปลูกที่ใช้ปฏิบัติกันมี 3 วิธี ดังนี้
1.) ปลูกแบบหว่าน เป็นวิธีที่สะดวก ประหยัดเวลาและแรงงาน โดยการนำเอาเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้หว่านลงไปในแปลงให้ทั่วไปในอัตรา 8-10 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนดินกลบเมล็ด
2.) ปลูกแบบโรยเป็นแถว โดยใช้เมล็ดโรยลงในแถวระยะระหว่างแถว 75-100 เซนติเมตร เมื่อโรยเมล็ดลงในแถวแล้วกลบเมล็ดด้วยดินบางๆ ใช้อัตราเมล็ด 5-8 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกโดยวิธีนี้ค่อนข้างช้าและสิ้นเปลืองค่าแรงงานกว่าวิธีแรก แต่ได้ถั่วพร้าที่ขึ้นเป็นแถวอย่างมีระเบียบ
3.) ปลูกแบบหยอดเป็นหลุม ระยะปลูก 50 x 100 เซนติเมตร หยอดเมล็ด2-3 เมล็ดต่อหลุม ใช้อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ วิธีนี้ล่าช้าและไม่สะดวกในทางปฏิบัติอีกทั้งสิ้นเปลืองค่าแรงงาน ไม่เป็นที่นิยมใช้ในกรณีที่มีเมล็ดพันธุ์จำกัดมากใช้
หลังจากถั่วพร้าออกดอกช่วงอายุประมาณ 60-65 วันก็ไถกลบ การไถกลบควรไถขณะที่มีความชื้นอยู่ในดินพอสมควรเพราะทำให้ย่อยสลายได้เร็วยิ่งขึ้น
การใช้ประโยชน์
ปลูกเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด นิยมปลูกเป็นปุ๋ยสด ในสภาพพื้นที่ดอนโดยปลูกในรูปแบบของพืชหมุนเวียน โดยหว่านหรือโรยเมล็ด ก่อนการปลูกพืชหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น อย่างน้อย 60-75 วัน แล้วไถกลบถั่วพร้าที่อายุประมาณ 60-65 วัน ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่บ้างแล้วทิ้งไว้ 7-10 วัน ก่อนปลูกพืชหลักหรืออาจปลูกในรูปแบบของพืชแซม โดยปลูกระหว่างแถวพืชหลัก ปลูกหลังจากพืชหลักประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถั่วพร้าให้น้ำหนักสดประมาณ 2.5-4 ตัน/ไร่ ให้ธาตุไนโตรเจนประมาณ 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ เทียบกับปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ประมาณ 23-48 กิโลกรัมต่อไร่หรือเทียบเท่าแอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 ประมาณ 47-95 กิโลกรัม หรือมีเปอร์เซ็นต์ไนโตเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ประมาณ 2.00-2.95, 0.30-0.40 และ 2.20-3.00 หน่วยตามลำดับ น้ำหนักมวลชีวภาพและปริมาณธาตุอาหารขึ้นกับปัจจัยของดินและการจัดการ

Post a Comment

0 Comments